วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เงินอาณาจักรทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 12-16)

  อาณาจักรทวารวดีบางครั้งเรียกกันว่าอาณาจักรมอญโบราณ ก่อกำเนิดขึ้นเมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลง ในพุทธศตวรรษที่ 11-12 นั้น ทำให้ดินแดนในอำนาจปกครองแตกแยกออกเป็นหลายอาณาจักร ดินแดนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณภาคกลาง ได้แก่ เมืองนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น ได้กลายเป็นเมืองสำคัญขึ้นมา และได้รวมกันเป็นอาณาจักร ที่มีชื่อว่า ทวารวดี


ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤตมาจากคำว่าโถโลโปตี (to-lo-po-ti) ที่มีอ้างอยู่ในบันทึกของภิกษุจีนเฮี้ยนจัง(Hiuan -tsang) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวว่า โถโลโปติ เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอาณาจักรอิศานปุระ (กัมพูชา) อาณาจักรทวารวดี เป็นที่น่าเชื่อถือขึ้นเมื่อมีการค้นพบเหรียญเงิน ๒ เหรียญ มีจารึกภาษาสันสกฤตอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จากเมืองนครปฐมโบราณ มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ ซึ่งแปลได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือ บุญของผู้เป็นเจ้าแห่ง(ศรี)ทวารวดี หรือ พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ อาณาจักรทวารวดีจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีอยู่จริง และยังเชื่อกันอีกด้วยว่าเมืองนครปฐมโบราณน่าจะเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักร
เงินตราทวารวดีมีลักษณะเป็นเหรียญกลมมีทั้งชนิดเนื้อทองคำและเนื้อเงิน มีหลายรูปแบบและขนาด ส่วนมากประทับตราสังข์ล้อมด้วยจุดไข่ปลา อีกด้านหนึ่งเป็นรูปปราสาท มีวัชระหรือศรีวัตสะอยู่ภายใน ประกอบด้วยแส้และขอช้างที่ด้านข้าง มีพระอาทิตย์ พระจันทร์อยู่ด้านบน มีปลาหรือน้ำอยู่ด้านล่าง มีเหรียญอีกกลุ่มหนึ่งทีเป็นรูปหม้อน้ำ รูปแม่โคและลูกโค ด้านหลังมีข้อความเป็นอักษรสันสกฤตโบราณว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ แปลว่าบุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี และบางเหรียญมีข้อความว่า ศรี สุจริตวิกรานต์ แปลว่าวีรบุรุษผู้สุจริตอยู่ด้านหนึ่งบางเหรียญ เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ได้แก่ ธรรมจักร กวาง  เป็นต้น ส่วนมากขุดพบที่จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น