อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรเเรกๆที่เป็นที่รู้จักกันดีในดินแดนแถบสุวรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-12 ครอบคลุมดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายูและบางส่วนของประเทศพม่า
อาณาจักรนี้ก่อตั้งโดยพราหมณ์ชาวอินเดียชื่อโกณทินยะซึ่งได้สมรสกับสตรีชั้นปกครองของฟูนันแล้วสถาปนาอาณาจักรฟูนันขึ้นอย่างเป็นทางการ ในประวัติศาสตร์โบราณคดีของเขมรได้บันทึกไว้ว่า ฟูนัน คืออาณาจักรเขมรยุคแรกหรือขอมโบราณนั่นเอง มีราชธานีนามว่า“วยาธปุระ” ใกล้เขาบาพนมในประเทศกัมพูชา ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณาจักรในแถบดินแดนอุษาคเนย์ เคยให้ความเห็นว่า คำว่าฟูนันน่าจะมาจากคำว่าพนมซึ่งแปลว่าภูเขา อาณาจักรฟูนันแห่งนี้มีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ ๙ แล้วเริ่มเสื่อมในพุทธศตวรรษที่ ๑๐กษัตริย์องค์สุดท้ายคือรุทรวรมัน ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเจนละซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของอาณาจักรฟูนันเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จากนั้นอาณาจักรฟูนัน ก็เสื่อมไป
เงินตราของอาณาจักรฟูนันเป็นเหรียญมีลักษณะกลมมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครอง และศาสนาพราหมณ์ เหรียญที่ค้นพบส่วนใหญ่มีสองขนาดคือ ขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 6-10 กรัม และขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 1.5-2.5 กรัม เหรียญเงินฟูนันสร้างได้สวยงามและมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ของความเชื่อและสาสนาพราหมณ์
ลวดลายของเหรียญที่พบด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียงกัน 2 แถว อีกด้านมีสัญลักษณ์บัลลังก์หรือปราสาทภายในมีศรีวัตสะซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์บางครั้งเรียกกันว่าขนหน้าอกพระนารายณ์(เป็นเทพเจ้าหนึ่งในสามองค์ที่ศาสนาพราหมณ์เคารพสูงสุดคือพระพรหม พระนารายณ์หรือพระวิษณุ และพระอิศวรหรือพระศิวะ)อยู่ตรงกลาง ข้างหนึ่งของศรีวัตสะเป็นกลองบัณเฑาะว์หมายถึงกลองเล็กชนิดหนึ่งที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรหรือพระศิวะโดยบัณเฑาะว์จะผูกติดอยู่กับที่ปลายตรีศูลของพระศิวะ ถ้าเขย่าเบาๆจะดัง ไปทั่วจักรวาลเทพทั้งหลายต้องมาชุมนุมกัน หากเขย่าไปเรื่อยๆด้วยจังหวะจะโคลนที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ฟังบังเกิดสมาธิ นำเข้าสู่ฌานสมาบัติได้ เป็นพลัง อำนาจ บารมี ก่อให้เกิดปัญญา อีกข้างหนึ่งเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีเป็นเส้นตรงกากบาททับกันตรงกลางปลายเส้นหักมุมเก้าสิบองศา วนไปทางขวามือเป็นสัญลักษณ์แห่งโภคทรัพย์สวัสดิภาพ ซึ่งเป็นพรอันประเสริฐของมหาพรหมเทพครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสัญลักษณ์ของนาซีเยอรมันนี ส่วนบนสุดของเหรียญเป็นรูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เปรียบให้เห็นว่าในโลกมีทั้งกลางวันและกลางคืน
ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ของชาวอินเดียโบราณที่อาณาจักรฟูนันรับวัฒนธรรมและความเชื่อมาอีกทอดหนึ่ง เหรียญของอาณาจักรฟูนันจะค่อนข้างมีความเหมือนกับเหรียญเงินของอาณาจักรศรีเกษตร เนื่องจากเจริญรุ่งเรืองอยูในช่วงเวลาเดียวกัน จึงอาจรับวัฒนธรรมและความเชื่อต่อกันมา วิธีการผลิตใช้หล่อด้วยแม่พิมพ์ดินเผาหรือแม่พิมพ์หิน โดยสมัยแรกๆมีเฉพาะขนาดใหญ่ เมื่อต้องการใช้เงินปลีกก็แบ่งเหรียญออกเป็นส่วนๆเช่น 2 ส่วน 4 ส่วน 8 ส่วนและ 16 ส่วนต่อมาจึงทำเงินขนาดเล็กขึ้นมาใช้
เหรียญเงินของฟูนันนี้ส่วนมากขุดพบที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเข้าใจว่า อำเภออู่ทองคงจะเป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังขุดพบเหรียญเงินที่กล่าว กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี ชัยนาท ลพบุรี สวรรคโลก พิจิตร นครศรีธรรมราช ตลอดจนบางส่วนของประเทศพม่า รวมทั้งบางส่วนของเวียดนามด้วย โดยพบว่าเหรียญเงินที่ขุดพบในไทยส่วนมากจะมีสภาพผุกร่อนเนื่องจากผสมโลหะชนิดอื่นเช่น ดีบุก ตะกั่ว ทองแดงในส่วนผสมของโลหะเงินด้วย ส่วนที่ขุดพบในประเทศพม่าจะมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ซึ่งอาจจะมาจากใช้โลหะเงินที่บริสุทธิ์มากกว่า นับเป็นเหรียญเงินโบราณที่น่าสนใจและสามารถบ่งบอกประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ศาสนา ของคนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี